สถาบันในครอบครัว
โครงสร้างสังคมและ สถาบันทางสังคม
ในการที่จะกล่าวถึงความหมายของโครงสร้างสังคมค่อนข้างจะเป็นนามธรรมจะขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่นโครงสร้างของบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัย จะประกอบด้วยโครงสร้างที่สำคัญๆ ที่ทำให้บ้านหลังนั้นสามารถอาศัยเป็นที่อยู่ได้ จะต้องมีพื้นบ้าน เสา ฝาบ้าน หลังคา ประตู หน้าต่าง สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างที่สำคัญแต่อุปกรณ์ตกแต่ง ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องรับแขกเป็นรายละเอียดของแต่ละบ้าน ดังนั้นถ้าเราจะเปรียบเทียบกับโครงสร้างทางสังคมต้องมองถึงสิ่งสำคัญที่เป็นองค์ประกอบทำให้สังคมนั้นดำรงอยู่ได้ โดยไม่แตกสลายไป ซึ่งโครงสร้างสังคมมีส่วนประกอบสำคัญคือ
1. บุคคลจำนวนหนึ่งที่มีการติดต่อระหว่างกัน มีการกระทำทางสังคมร่วมกัน
2. กฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนของความสัมพันธ์ของสมาชิกกลุ่มสังคมนั้น
3. วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของสังคมเช่น ตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ความปลอดภัย ในการอยู่ร่วมกัน
ในการศึกษาโครงสร้างสังคมสามารถดูส่วนประกอบต่างๆ จาก แผนภูมิ
โครงสร้างสังคมและสถาบันทางสังคม
1.สถาบันครอบครัว
2.สถาบันการเมืองการปกครอง
3.สถาบันเศรษฐกิจ
4.สถาบันการศึกษา
5.สถาบันศาสนา
6.สถาบันสื่อสารมวลชน
7.สถาบันนันทนาการ
องค์ประกอบของสังคม
1.สถานภาพของบุคคล
2.บทบาทหน้าที่ของบุคคล
3.แบบแผนพฤติกรรมที่เป็นมาตรฐาน
4.ศูนย์กลางที่เป็นรูปธรรม
สถาบันสังคม หมายถึง ระเบียบ แบบแผน ทั้งความคิดและการกระทำที่เป็นมาตรฐาน เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม โดยที่สมาชิกของสังคมยอมรับและยึดถือปฏิบัติกันมา
ลักษณะของสถาบัน
1. เป็นกลุ่มของวิธีการปฏิบัติ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีบวชนาค กระบวนการศึกษา ( วิธีการปฏิบัติย่อยๆ เพียงอย่างเดียว เช่นการสอนให้อ่านหนังสือออกไม่เป็นสถาบัน)
2. มีการจัดระเบียบ มีการแบ่งงาน แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบตามความสามารถของแต่ละบุคคลหรือองค์กร ตามบทบาทและสถานภาพ เช่น การจัดระบบการเรียนการสอน การประเมินผล
3. เป็นที่ยอมรับทั่วไป มีความมั่นคงถาวร ไม่เปลี่ยนแปลงง่าย
องค์ประกอบของสถาบัน
1. หน้าที่ที่แน่นอนชัดเจน ว่าสถาบันนั้นจะทำหน้าที่อะไรให้กับสังคม เช่น สถาบันครอบครัว ทำหน้าที่ผลิตสมาชิกใหม่ให้กับสังคม ดูแลถ่ายทอดกฎระเบียบให้กับสมาชิกใหม่
2. แบบแผนพฤติกรรมที่เป็นมาตรฐาน เป็นระเบียบแบบแผนที่ไม่เปลี่ยนแปลงง่าย สมาชิกยอมรับปฏิบัติตาม เช่น ประเพณีการแต่งงาน การสู่ขอหมั้นหมายระหว่างชายกับหญิง
3. บุคคล ผู้รับผิดชอบเกี่ยวข้องกันตามสถานภาพและบทบาทที่สถาบันกำหนด
4. ศูนย์กลางในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม เช่น ตัวแทน อุปกรณ์
หน้าที่ของสถาบันสังคม
สถาบันสังคมเป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างสังคม เพราะ เป็นแบบแผนของวิธีปฏิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของสังคม จึงมีหน้าที่ของสถาบันดังนี้ 2 ประการ คือ
1. หน้าที่เห็นชัดเจน เป็นหน้าที่ที่สามารถสังเกตเห็นได้ตรงๆ ทุกสถาบันมีหน้าที่ที่เห็นชัด 2 ประการคือ
1.1 ประกอบกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของสถาบันนั้นๆ เช่น สถาบันครอบครัว มีหน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโตเป็นสมาชิกใหม่ของสังคม
1.2 ดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ภายในสถาบัน ให้สถาบันคงอยู่ เช่นสถาบันครอบครัว ต้องรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไม่ให้แตกแยก
2. หน้าที่แฝงหรือหน้าที่ซ่อนเร้น เป็นหน้าที่ที่ไม่สามารถสังเกตได้ชัดเจน หรือไม่ใช่หน้าที่หลัก แต่ถือเป็นผลพลอยได้ เช่น สถาบันครอบครัว มีหน้าที่หลักในการเลี้ยงดูครอบครัว แต่การพยายามไม่ให้ครอบครัวแตกแยก ทำให้เกิดความสามัคคีกันในสังคมนั้นๆ ที่สถาบันครอบครัวทำหน้าที่โดยตรงได้สมบูรณ์
กล่าวโดยสรุป สังคมทุกสังคมมีโครงสร้างทางสังคม ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ประการ คือ สถาบันทางสังคมและการจัดระเบียบทางสังคม ส่วนประกอบ 2 ประการนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องตัวมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มสังคม อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของแบบแผนการปฏิบัติของมนุษย์ที่อยู่รวมกันอยู่ในกลุ่ม กลุ่มมนุษย์จะดำรงอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ได้ หากขาดกฎเกณฑ์ หรือระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้ แต่ระเบียบแผนก็ไม่จำเป็นต้องมีหากไม่มีกลุ่มคน ดังนั้น โครงสร้างสองส่วนจึงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
ประเภทของสถาบันสังคม ที่สำคัญ ๆ ในสังคมมีดังนี้
1.สถาบันครอบครัว มีหน้าที่เกี่ยวกับ การให้กำเนิดบุตร สืบทอดสมาชิกใหม่ของสังคม เลี้ยงดู อบรมสั่งสอนกฎระเบียบให้แก่สมาชิกใหม่นั้น
2. สถาบันการศึกษา มีหน้าที่ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและขัดเกลาทางสังคม
3. สถาบันการเศรษฐกิจ มีหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตและจำแนกแจกจ่ายผลผลิต สินค้าและบริการ ให้แก่สมาชิกในสังคมอย่างยุติธรรม
4. สถาบันศาสนา มีหน้าที่เกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธา ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ให้อยู่เป็นสุขไม่เบียดเบียนกันและกัน
5. สถาบันการเมืองการปกครอง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอก
6. สถาบันนันทนาการ มีหน้าที่ในการบำรุงรักษา เสริมสร้างสุขภาพทางร่างกายและจิตใจของสมาชิก
7. สถาบันสื่อสารมวลชน มีหน้าที่ให้ความรู้ ข่าวสารเรื่องราวของเหตุการณ์ต่างๆ
สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันเก่าแก่และสถาบันแรกที่มนุษย์สัมผัส ความหมายกว้างๆของสถาบันครอบครัว"ระบบของวิธีปฏิบัติและบรรทัดฐานที่ยอมรับของหน่วยสังคมที่ผูกพันเข้าด้วยกันโดยการสมรส สืบเชื้อสายการรับบุตรบุญธรรม เพื่อรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตรและสนองความต้องการบางประการของมนุษย์
ประเภทของครอบครัว
1. ครอบครัวเดี่ยว (The Nuclear or Elementary Family) ครอบครัวประกอบด้วยคู่สมรสเพียงคู่เดียวคือ พ่อ+ แม่ และลูก แต่ในสังคมไทยบางครอบครัวต้องเลี้ยงบิดามารดาของฝ่ายภรรยาหรือสามีนอกจากนั้นบางครอบครัวจะมีพี่หรือน้องของสามีภรรยาที่ยังโสดมาอาศัยอยู่ด้วย แต่อำนาจของหัวหน้าครอบ อาจอยู่ที่สามีหรือภรรยา ญาติที่มาอาศัยอยู่มีฐานะเพียงผู้อาศัยเท่านั้น มิได้ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญ
2. ครอบครัวขยาย (The Extended Family ) ครอบครัวเดี่ยว 2 ครอบครัวมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่อาจมีลุงป้าน้าอาลูกพี่ลูกน้อง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายและหลาน การสืบเชื้อสายหรือการนับญาติจะนับถือเป็นสายเดียวต่างจากครอบครัวเดี่ยวตรงที่ อำนาจการตัดสินใจปัญหาต่างๆของครอบครัวมิได้อยู่ที่พ่อหรือแม่ หรือสองคนปรึกษาหารือกันแต่มีผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในนามของครอบครัวจะได้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่อาวุโส แบ่งเป็น
2.1 การสืบเชื้อสายฝ่ายบิดา (Patrilinear) ผู้มีอำนาจสูงสุดคือทวด ปู่ หรือชายที่อาวุโสสูงสุด เช่น ครอบครัวคนจีน
2.2 การสืบเชื้อสายฝ่ายมารดา (Matrilinear) ผู้มีอำนาจสูงสุดคือญาติที่อาวุโสทางฝ่ายหญิง ได้แก่ พี่ชาย หรือน้องชายของหญิงอาวุโสนั้น
3. ครอบครัวรวม (The Composite or Polygamous Family) เป็นครอบครัวที่มีคู่สมรสได้มากกว่าหนึ่งคน แล้วครอบครัวนั้นอยู่ร่วมกัน เช่น ครอบครัวชาวมุสลิม ครอบครัวรวมนี้ต่างจากครอบครัวขยายมารวมกัน นอกจากนี้การสลายตัวของครอบครัวรวมนี้เป็นไปได้ง่ายกว่าครอบครัวขยาย กล่าวคือ สามีหรือหัวหน้าครอบครัวล้มตายลงครอบครัวก็จะสลายตัวลงคู่ครองที่เหลือแต่ลูก ๆของตน ก็จะแยกตัวออกจากกันไปอยู่ตามลำพัง (ดังรูป)
ประเภทของการสมรส
1. ผัวเดียวเมียเดียว (Monogamous) กำหนดให้ชาย-หญิงมีคู่สมรสเพียง
2. มากผัวมากเมีย (Polygamous) ชาย-หญิงมีคู่สมรสได้มากกว่าหนึ่งแบ่งเป็น
ประเภทที่อยู่อาศัยหลังการสมรส
1. ตั้งถิ่นฐานตามฝ่ายชาย (Patrilocal) เช่น ชาวจีน
2. ตั้งถิ่นฐานตามฝ่ายหญิง (Matrilocal) เช่น ชาวอิสาน
3. ตั้งถิ่นฐานใหม่แยกมาอยู่อิสระ (Neolocal) เช่น สังคมเมือง สังคมตะวันตก
ประเภทของระบบเครือญาติ
1. ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต และความสัมพันธ์จากการสมรส
1.1 เครือญาติจากสายโลหิต (Consanguineous kinship) เช่น ลุง ป้า น้า อา
1.2 เครือญาติที่เกิดจากการสมรส (Conjugal kinship) เช่น พี่เขย พี่สะใภ้ น้องเขย น้องสะใภ้ พ่อตา แม่ยาย พ่อผัว แม่ผัว
2. การจัดลำดับความสำคัญของญาติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
2.1 การนับถือญาติพี่น้องเฉพาะทางฝ่ายมารดา (Matrilineal)
2.2 การนับถือญาติพี่น้องเฉพาะทางฝ่ายบิดา (Patrilineal)
2.3 การนับถือญาติทั้งสองฝ่ายควบคู่กันไป (Bilateral)
3. อำนาจของสมาชิกในครอบครัว แบ่งเป็น 3 แบบ
3.1 หญิงเป็นใหญ่ในครอบครัว (Matriarchal)
3.2 ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว (Patriarchal)
3.3 ชายและหญิงมีอำนาจเท่า ๆ กัน (Equalitarian)
องค์ประกอบของครอบครัว
1. ตำแหน่งทางสังคม มีพ่อ แม่ ภรรยา สามี ลูก พี่น้อง และญาติ
2. หน้าที่ ครอบครัวมีหน้าที่หลายอย่าง เช่นเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี เป็นการเตรียมตัวให้เด็กออกไปเผชิญชีวิตที่พ้นไปจากบ้าน
3. แบบแผนของการปฏิบัติ เป็นแบบแผนในความสัมพันธ์หรือการปฏิบัติต่อกัน สำหรับในครอบครัว จะเป็นความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยสามี ภรรยา ห่วงใยซึ่งกันและกัน พ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ความห่วงใยลูกไม่มีขอบเขต ลูกต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่ด้วยความห่วงใย
4. ศูนย์กลางที่เป็นรูปธรรม บ้านหรือเรียกว่าเรือนหอ สินสอดทองหมั้น ชุดวิวาห์ มรดก
หน้าที่ของสถาบันครอบครัว
1. การสร้างสมาชิกใหม่ให้แก่สังคม
2. อบรมเลี้ยงดูสมาชิกใหม่และขัดเกลาสมาชิกสังคมให้รู้จักกฎระเบียบทางสังคม
3. กำหนดตำแหน่งทางสังคม เช่น ฐานะบทบาทของพ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง
4. ให้ความรักความอบอุ่นแก่ครอบครัว ตลอดจนบำบัดความต้องการทางเพศ
2. สถาบันการศึกษา การศึกษาในฐานะที่เป็นสถาบันสังคม หมายถึง ชุดของวิถีปฏิบัติในการถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมจากช่วงอายุหนึ่งไปอีกช่วงอายุหนึ่งซึ่งทำให้สังคมดำรงอยู่ได้มีลักษณะสำคัญคือเป็นขบวนการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาบุคคลและมีการจัดให้บุคคลได้รับกระบวนการทางสังคมโดยให้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมที่จัดให้และมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมนั้น องค์กรทางการศึกษา ได้แก่ วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย
การเรียน หมายถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่บุคคลได้รับในการเสริมสร้างและปรับปรุง ทัศนคติและความประพฤติตั้งแต่เกิดจนตาย
การศึกษา เป็นเรื่องความพยายามของบุคคลที่จะกำหนดแนวทางของวิวัฒนาการให้สอดคล้องกับอุดมคติในชีวิตของตนรวมทั้งวิธีการที่จะสร้างทัศนคติแบบของความประพฤติ เช่นการเรียนรู้จากบิดา-มารดา ญาติพี่น้องและคนอื่นๆภายในครอบครัว ตลอดจนการสั่งสอนอย่างเป็นทางการจาก วัด โรงเรียนและมหาวิทยาลัย และการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการซึ่งได้จากสังคมและการประกอบอาชีพ
การศึกษาจึงไม่ได้หมายความถึงแค่ไปโรงเรียนเท่านั้นแต่มีความหมายครอบคลุมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดรวมทั้งความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นซึ่งนักการศึกษาในปัจจุบันอ้างเสมอว่าการศึกษาหมายถึง ความเจริญทางปัญญา สังคม อารมณ์จิตใจ และพลานามัยด้วยเหตุนี้ สังคมที่เจริญจึงมีสถาบันที่รับผิดชอบแทนครอบครัวซึ่งได้แก่ โรงเรียน การศึกษาจึงถูกเพ่งเล็งให้เป็นการไปโรงเรียนจนกระทั่งในที่สุดสังคมก็โยนความรับผิดชอบต่างๆเกี่ยวกับความเจริญของเด็กให้แก่โรงเรียนเกือบทั้งสิ้นซึ่งข้อนี้ไม่เป็นผลดีเพราะครอบครัวควรจะเป็นหลักการอบรมให้กับเด็กมากกว่าเพราะในชีวิตของคนหนึ่งๆถ้ามีอายุ 60 ปี จะใช้เวลาเรียน 4-6 ปี และคนส่วนน้อยจะใช้เวลาศึกษาถึง 12 ปีขึ้นไปแต่ก็ไม่เกิน 20 ปี ในช่วงเวลานั้นก็ใช้เวลาอยู่ในโรงเรียน 1 ใน 4 ของเวลาเต็ม ส่วนเวลาที่เหลือเป็นเวลาที่เรียนจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อม เมื่อบุคคลมีประสบการณ์จากโรงเรียนเป็นหลัก บวกกับที่ได้จากประสบการณ์ของตนเองและได้จากสื่อสารมวลชน ก็นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่สังคมยอมรับซึ่งเท่ากับเป็นการศึกษาแบบไม่เป็นทางการและเป็นการศึกษานอกสถาบัน ดังนั้นการศึกษาจึงมีความหมายกว้างไกลกว่าการเรียนหนังสือและการไปโรงเรียน
สรุป การศึกษาคือ การสร้างสมและการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ของมนุษย์ เพื่อการแก้ปัญหาและยังให้เกิดความเจริญ การศึกษาจำเป็นต้องมีลักษณะต่อเนื่อง และต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบการศึกษาอยู่เสมอการศึกษามีความหมายกว้างไกลและลึกกว่าการเรียนหนังสือและการไปโรงเรียนการศึกษาก่อให้เกิดความเจริญทางพุทธิปัญญา จิตใจ อารมณ์ สังคมและพลานามัย การศึกษาดำเนินอยู่เป็นล่ำเป็นสันในสถานศึกษาการศึกษาไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อหาวิชาแต่เป็นการเรียนให้เกิดความคิด การศึกษาเป็นการโน้มน้าวทำให้บุคคลเกิดความประจักษ์ใจและพัฒนาความสามารถของตนให้รู้ว่า ตนทำอะไรได้มากกว่าการฝึกอาชีพเฉพาะอย่าง
ลักษณะการจัดการศึกษา ในสังคมอาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1. การศึกษาอย่างเป็นทางการ ( formal education ) หมายถึงการศึกษาในระบบโรงเรียนซึ่งมีการจัดทำแผนการศึกษาไว้แน่นอนมีระบบการบริหาร การกำหนดวัตถุประสงค์การศึกษา หลักสูตร วิธีการเรียนการสอน ระยะเวลา การวัดผล ตลอดจนการกำหนดกฎเกณฑ์อื่นๆ รวมทั้งคุณสมบัติผู้เรียนผู้สอนและบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไปการศึกษาในระบบโรงเรียนจะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ระดับอนุบาลเป็นการขยายการเรียนรู้จากบ้านเป็นระดับที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่เด็ก ระดับประถมศึกษาเป็นระดับที่สอนให้เด็กรู้จักอ่าน คิด เขียนและเรียนความรู้พื้นฐานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ระดับมัธยมศึกษาเป็นการเรียนรู้วิชาที่มีเนื้อหาซับซ้อนขึ้น แยกย่อยมากขึ้นและอาจจะมีวิชาชีพประกอบอยู่ด้วย ส่วนระดับอุดมศึกษาเป็นการเรียนรู้ทักษะวิชาชีพชั้นสูง การกำหนดจำนวนปีในแต่ละระดับแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมนั้นๆ และในแต่ละสังคมมักจะกำหนดการศึกษาภาคบังคับ ( compulsory education ) โดยให้สมาชิกทุกคนได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันในระดับหนึ่ง สำหรับสังคมไทย ได้ปรับการศึกษาภาคบังคับเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็น 12 ปี ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2542
2. การศึกษาแบบไม่เป็นทางการ ( informal education ) หมายถึงการศึกษาแบบไม่มีระบบเป็นการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์ จากสิ่งแวดล้อม จากการติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ซึ่งไม่มีหลักสูตร ไม่มีแบบแผนอะไร เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่มีใครเป็นครูเป็นนักเรียนที่แน่นอน เพราะทุกคนต่างเรียนรู้จากคนอื่นและให้อิทธิพลต่อการเรียนรู้ของคนอื่นเช่นกัน เช่นการเรียนรู้จากครอบครัว เพื่อน สื่อมวลชน เป็นต้น
3. การศึกษานอกระบบ ( non – formal education ) หมายถึงการศึกษาที่จัดขึ้นนอกเหนือจากการเรียนในระบบโรงเรียนตามปกติ ซึ่งอาจจะมีการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ แต่มีลักษณะไม่เคร่งคัดเท่าการศึกษาในระบบโรงเรียน สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมและมีขอบเขตกว้างขวางมาก ครอบคลุมกิจกรรมทุกอย่างที่อยู่นอกโรงเรียน จัดบริการเพื่อคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา การศึกษาที่จัดทำขึ้นมีได้หลายลักษณะ เช่น การจัดการศึกษาผู้ใหญ่ การจัดศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน การฝึกฝนอาชีพ การฝึกอบรมระยะสั้น การเสนอบทเรียนทางวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น
องค์ประกอบของสถาบันการศึกษา
1. ตำแหน่งทางสังคม ตำแหน่งต่างๆ เช่น ครู อาจารย์ วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักค้นคว้าวิจัยฝ่ายเจ้าหน้าที่ธุรการ นักเรียน นักศึกษา นิสิต ผู้รับการฝึกอบรม เป็นต้น
2. หน้าที่ หน้าที่หลักก็คือการถ่ายทอดความรู้ กฎเกณฑ์ ระเบียบ แบบแผนทั่วไปของสังคมให้การสนับสนุนสมาชิกของสังคมให้มีกำลังกายและกำลังใจความคิดหรือการใช้สติปัญญาให้เป็นประโยชน์หรือให้มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมฝึกฝนสมาชิกให้มีความชำนาญในด้านอาชีพเพื่อจะได้มีความรู้ในการยึดเป็นอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง
3. แบบแผนการปฏิบัติ แบบแผนของความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนจึงมีทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ เช่น ในระดับอนุบาลครูมักจะทำตัวเหมือนพ่อแม่ของเด็กและให้ความใกล้ชิดสนิทสนม การวัดผลก็ไม่เคร่งคัดมากนักแต่ระดับสูงขึ้นไปเช่นมหาวิทยาลัย ผู้เรียนและผู้สอนจะมีความห่างเหินมากกว่าในขั้นอนุบาลหรือเป็นแบบทุติภูมิคืออาจารย์กับลูกศิษย์ไม่ค่อยจะใกล้ชิดกัน อาจารย์จะไม่ค่อยได้เอาใจใส่เรื่องทุกข์สุขหรือเรื่องส่วนตัวของนิสิตนักศึกษาเพราะส่วนมากจะเกี่ยวข้องกันเฉพาะด้านการสอนเท่านั้นหรือเวลาวัดผลการศึกษา ก็จะใช้หลักเกณฑ์การวัดผลอย่างเคร่งคัด
ส่วนเรื่องตัวครูผู้สอนกับนักเรียนและอาจารย์กับนักศึกษาก็มีบรรทัดฐานกฎเกณฑ์เป็นแบบแผนในการปฏิบัติ เช่น ครูต้องมีความรู้ขยันขันแข็งในการสอนการแต่งตำราหรือเขียนบทความทางวิชาการ หรือทำการวิจัยเรื่องน่ารู้ต่างๆ เป็นต้น ส่วนตัวนักเรียนนักศึกษาก็ต้องขยันขันแข็ง ไม่ขาดเรียน เข้าห้องสมุดศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเป็นต้น และสัญลักษณ์ด้านการศึกษาก็จะออกมาในรูปของปริญญา ประกาศนียบัตรหนังสือ อุปกรณ์การสอนโรงเรียน และสถานศึกษา เป็นต้น
4. ศูนย์กลางที่เป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน
หน้าที่ของสถาบันการศึกษา
1. ให้ความรู้ความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เพื่อเป็นรากฐานให้บุคคลพัฒนาสติปัญญา ความรู้สึกนึกคิดในทางที่ดี
2. พัฒนาคนให้บุคคลมีคุณธรรม จริยธรรม
3. สอนและฝึกวิชาชีพให้กับบุคคลในสาขาต่างๆ
4. ให้บุคคลได้มีความรักและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงาม
5. เป็นแหล่งความรู้และวิทยาการที่เอื้ออำนวยต่อชุมชนและสังคมโดยส่วนรวม
3. สถาบันศาสนา ในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคม หมายถึง ระเบียบแบบแผนในด้านความเชื่อศรัทธาอันเกี่ยวกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์รวมทั้งกฎเกณฑ์ความประพฤติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกในสังคมเป็นคนดีทำให้มีบรรทัดฐานในการปฏิบัติ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เป็นที่พึ่งทางใจ
สถาบันศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และก่อให้เกิดแบบแห่งความประพฤติ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ความเชื่อ ศาสนาทุกศาสนาต้องการให้บุคคลมีความเชื่อและความศรัทธาในคำสอน อย่างไรก็ตามศาสนาพุทธถือว่า เหตุและผลการพิสูจน์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สนับสนุนความเชื่อ แต่ศาสนาสำคัญอื่นๆมักจะเน้นความเชื่อที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติของจักรวาลและความเชื่อแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า
2. ความรู้สึกทางใจ ความเชื่อทางศาสนาที่ถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักเกี่ยวพันกับอารมณ์ที่สำคัญ เช่น ความกลัวความหวาดหวั่น ความเคารพ ความรัก ความถ่อมตนหรืออารมณ์อื่นๆความรู้สึกทางอารมณ์จะเป็นลักษณะใดขึ้นอยู่กับว่าศาสนานั้นได้สอนอย่างไรด้วยรวมตลอดทั้งหลักความเชื่อและคุณค่าที่ศาสนานั้นได้ยึดถือเป็นที่น่าสังเกตว่าอารมณ์เหล่านี้แต่ละศาสนาได้มีส่วนสร้างขึ้นและมีลักษณะที่แตกต่างกันไป จะวัดว่าของใครสูงหรือต่ำกว่าของใครไม่ได้
ลักษณะสถาบันศาสนา เป็นความเชื่อและศรัทธาจากลัทธิต่างๆมีพิธีกรรมต่างๆอันเป็นพฤติกรรมที่บัญญัติไว้สืบเนื่องกับสิ่งสักการะในทางศาสนามีลักษณะของอารมณ์ความรู้สึกอันเกิดความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและพิธีกรรม เช่น ความกลัว ความเคารพ มีการปฏิบัติทางศาสนา เช่น การไปโบสถ์ ไปวัดมีสัญลักษณ์ เช่น พระพุทธรูป พระพรหม ไม้กางเขน
สถาบันศาสนาทำหน้าที่เสมือนเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมทางสังคมเพื่อให้เกิดความประพฤติและพฤติกรรมอันถูกต้อง เพื่อนำไปสู่ความสงบสุข ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เช่น คำสอนหรือกฎเกณฑ์ทางศาสนาที่สอนมิให้มีการประพฤติชั่ว หรือเบียดเบียนกันระหว่างสัตว์โลก
องค์ประกอบของสถาบันศาสนา
1.ตำแหน่งทางสังคม ในสถาบันศาสนาได้แก่ ศาสดา หรือผู้สืบต่อศาสนา เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู นะบีมะหะหมัด พระสงฆ์ บาทหลวง โต๊ะครู(ดาโต๊ะยุติธรรม)สามเณร แม่ชี ศาสนิกชน ผู้นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ผู้บริหารและบริการ เช่น สมภารวัด ผู้ดูแลวัดพระครู เจ้าคุณ ลูกศิษย์วัด เป็นต้น
2.หน้าที่ หน้าที่หลักของศาสนาคือสร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยสถาบันนี้จะสอนและส่งเสริมหลักศีลธรรมอันดีงามแก่สมาชิกให้รู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด รู้จักบุญและบาป ให้รู้จักประกอบอาชีพด้วยความสุจริต รู้จักประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควร ให้อยู่ในศีลธรรมอันดี และรู้จักสร้างสมความดี เป็นต้น ศาสนามีประโยชน์ต่อมนุษย์ เพราะเป็นเรื่องของความต้องการทางด้านจิตใจ ต้องการมีสิ่งยึดเหนี่ยว เพื่อเป็นเป้าหมายในการกระทำต่างๆ ถ้าศาสนาทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เท่ากับเป็นการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่ง
3. แบบแผนการปฏิบัติ สถาบันศาสนาจะให้แนวทางแบบแผนความประพฤติที่ถูกต้องดีงามโดยจะให้แนวทางในการปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นเช่นรู้จักเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว มีจิตใจเมตตากรุณา ซื่อสัตย์สุจริตมีความละอายต่อบาปทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนาจะให้แนวทางการปฏิบัติ เช่น รู้จักปฏิบัติตนในศาสนพิธีต่างๆ อย่างถูกต้อง เป็นต้น
4. ศูนย์กลางที่เป็นรูปธรรม วัด โบสถ์ มัสยิด
หน้าที่ของสถาบันศาสนา
1. สนองความต้องการส่วนบุคคลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางจิตใจ มีสิ่งยึดเหนี่ยว คลายความเครียด
2. ช่วยควบคุมสังคมโดยให้ยอมรับความเชื่อ ปลูกฝังความศรัทธา ยอมปฏิบัติตามบรรทัดฐาน ช่วยให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในสังคม ก่อให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มที่นับถือศาสนาร่วมกัน
4. สถาบันการปกครองในฐานะที่เป็นสถาบัน หมายถึง ระบบของวิถีปฏิบัติที่ใช้อำนาจบังคับโดยตรงหรือโดยทางอ้อมแก่สมาชิกของสังคม ให้กระทำสิ่งที่สังคมเรียกว่ากฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ สถาบันการเมืองการปกครองถือว่าสำคัญมาก เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีจุดอ่อนและไม่สมบูรณ์ในตัวเอง มีการเอาเปรียบเห็นแก่ตัวต่อสู่แข่งขันและมักจะละเมิดบรรทัดฐาน ดังนั้นการปกครองจึงช่วยประสานงานกำหนดนโยบายหลักประกันในการคุ้มครองสมาชิกในสังคม
อำนาจ หมายถึง ลักษณะความสัมพันธ์ของบุคคล อำนาจย่อมเกิดเมื่อคนหนึ่งสามารถทำในสิ่งที่เขาสามารถจะกำหนดพฤติกรรมของผู้อื่นได้เช่น ครูสั่งงานนักเรียน แม่ห้ามลูกกินลูกอม ดังนั้นอำนาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้บังคับให้ผู้อื่นกระทำตาม การใช้อำนาจนั้นต้องผ่านอำนาจการปกครองซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นอำนาจอันชอบธรรมและมีการพิจารณาตัดสินใจของบุคคลที่มีอำนาจสั่งการต่าง ๆ ตามตำแหน่งที่มีอยู่ในระบบการปกครองนั้น
องค์ประกอบของสถาบันการปกครอง
1. ตำแหน่งทางการเมือง สถาบันการเมืองการปกครองอาจแบ่งได้เป็น 3 ฝ่ายคือ
1) ฝ่ายบริหาร มีตำแหน่งต่างๆ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี หัวหน้ากอง หัวหน้าแผนก ฯลฯ
2) ฝ่ายนิติบัญญัติ มีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสภาจังหวัด ฯลฯ
3) ฝ่ายตุลาการ มีตำแหน่งเช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ
2. หน้าที่ แบ่งตามฝ่ายต่างๆ ดังนี้
2. 1) ฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ทะนุบำรุงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมให้เจริญก้าวหน้ารักษาความสงบภายใน
2.2) ฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกกฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพสังคมให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎร หรือผู้เกี่ยวข้อง ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร
2.3) ฝ่ายตุลาการ มีหน้าทีพิจารณาคดีต่างๆ ที่เกิดจากกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกไปให้ฝ่ายบริหารนำไปบังคับใช้แล้วเกิดปัญหาโดยการพิจารณาตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดระเบียบแบบแผนของสังคม หรือกฎหมายบ้านเมือง เพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดอีก
3. แบบแผนการปฏิบัติ สถาบันการเมืองการปกครองจะกำหนดแบบการปฏิบัติหรือความสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐหรือระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ เช่น ราษฎรต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เสียภาษี ออกเสียงเลือกตั้ง เคารพกฎหมาย ฯลฯ
4. ศูนย์กลางที่เป็นรูปธรรม รัฐสภา ที่ทำการพรรคการเมือง
หน้าที่ของสถาบันการปกครอง
1.ป้องกันและระงับข้อขัดแย้งระหว่างบุคคล เพราะสมาชิกแต่ละคนมีเป้าหมายต่างกันอาจขัดแย้งกัน
2. คุ้มครองบุคคลให้ปลอดภัยพ้นการละเมิดใด ๆ โดยใช้กฎหมาย หรือ ตำรวจ ศาล
3. รักษาความสงบเรียบร้อยแก่สังคม โดยบัญญัติกฎหมายให้สมาชิกปฏิบัติตาม
4.วางแผนและปรับสภาพสังคมให้อยู่อย่างสงบสุข แม้สังคมจะเปลี่ยนแปลง กฎหมายก็ปรับเข้าได้ กับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
5. สถาบันเศรษฐกิจสถาบันเศรษฐกิจมีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างยิ่งเพราะความต้องการทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้สถาบันเศรษฐกิจเป็นสถาบันที่กล่าวถึงวิธีการอยู่รอดของมนุษย์ในด้านต่างๆตั้งแต่ด้านการผลิตของกินของใช้ การแลกเปลี่ยน หรือการแบ่งสันปันส่วนรวมทั้งการให้บริการต่างๆระหว่างสมาชิกของสังคม สถาบันนี้เป็นเครื่องมือที่ดีในการลดปริมาณการต่อสู้ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาวะที่ทรัพยากรและการผลิตของมนุษย์อยู่ในวงจำกัดประกอบกับมนุษย์มีความต้องการทางด้านวัตถุมากขึ้นมนุษย์จึงต้องหาวิธีบางอย่างเพื่อให้ความต้องการของตนได้บรรลุผล โดยมนุษย์ได้ใช้วิธีการทางเศรษฐกิจเพื่อสนองความต้องการของตนตั้งแต่ระยะแรกๆในประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน เช่น การหาอาหารด้วยการล่าสัตว์ ตกปลา ทำนาแลกเปลี่ยน ค้าขาย และการอุตสาหกรรม เป็นต้น
สถาบันเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในฐานะที่เป็นสถาบันสังคม หมายถึง แบบแผนของการคิดและวิธีปฏิบัติทางด้านการผลิต การแจกจ่าย แบ่งปันผลผลิตให้กับสมาชิกในสังคม เช่น อาชีพ เงินตรา ทรัพย์สิน ลักษณะของสถาบันเศรษฐกิจของแต่ละสังคมขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองการปกครองในสังคมระบอบประชาธิปไตยบุคคลมีเสรีภาพสูง ทั้งในด้านการผลิตและการบริโภค สถาบันเศรษฐกิจจึงเป็นแบบแผนในการคิดการกระทำเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของสมาชิกในสังคมและเป็นสิ่งที่สังคมจะขาดเสียมิได้
ลักษณะของสถาบันทางเศรษฐกิจที่สำคัญ หากจะพิจารณาในรายละเอียด สถาบันทางเศรษฐกิจที่สำคัญมีดังนี้ คือ
1. ทรัพย์สิน เป็นสถาบันทางเศรษฐกิจซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่ยาก เป็นสิ่งมีค่าและเปลี่ยนมือได้ สิ่งของซึ่งอาจจะถือกรรมสิทธิ์ได้นี้อาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น เสื้อผ้า หรืออสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ชื่อเสียง ผลผลิตจากความคิดของตน
2. สัญญา เป็นสถาบันทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้ทรัพย์สินสามารถเปลี่ยนมือกันได้อย่างเป็นระเบียบและเป็นหลักฐาน โดยทั่วไปสัญญาเป็นการแลกเปลี่ยนคำมั่นสัญญา หรือการแลกเปลี่ยนระหว่างทรัพย์สินกับเงินสัญญาอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ บางครั้งสัญญาหรือข้อตกลงนี้ก็เป็นสิ่งที่ง่ายและสามารถเข้าใจได้ในตัวเอง เช่น เมื่อแม่ค้าหยิบแหวนส่งให้ลูกค้าหนึ่งวง แม่ค้าผู้นั้นก็มีความคาดหวังว่าผู้ซื้อจะต้องให้เงินค่าแหวนนั้นทันที ความเข้าใจเช่นนี้เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นเสมือนข้อตกลงหรือสัญญาซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วในตัว
3. อาชีพ เป็นสถาบันทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะกำหนดบทบาททางเศรษฐกิจของประชาชนมีสาระสำคัญดังนี้ คือ
3.1 กำหนดการคาดหวังอาชีพต่างๆ จากอาชีพหนึ่งจะก่อให้เกิดงานหรือการกระทำในลักษณะใด โดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นที่รับรู้กัน เช่น อาชีพครูในชุมชนมาก คนชุมชนนั้นมีความรู้มากด้วย
3.2 กำหนดภาระกิจเกี่ยวกับอาชีพเหล่านั้นรวมตลอดทั้งความชำนาญความรับผิดชอบ และบทบาทของอาชีพต่างๆ เช่น บุคคลซึ่งมีอาชีพเป็นแพทย์ต้องมีภาระในการให้การรักษาแก่ผู้ป่วยให้ดีที่สุด เลขานุการเมื่อเข้ารับตำแหน่งก็จะต้องมีการคำมั่นสัญญาหรือรู้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดชอบของตน ว่าจะต้องจดคำบอกให้ถูกต้อง พิมพ์ดีดได้ รับโทรศัพท์และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บังคับบัญชาได้ถูกต้อง
4. การแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนเป็นสถาบันเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากความจำเป็นตามธรรมชาติทั้งสิ้นเพราะบุคคลย่อมปรารถนาผลผลิตจากอาชีพต่างๆกันคือผู้ผลิตของอย่างหนึ่งอาจจะต้องการสิ่งผลิตอันเป็นผลผลิตของบุคคลอื่นประเภทเดียวกันหรือต่างประเภทกันก็ได้ดังนั้นจึงต้องมีข้อตกลงกันว่าควรจะแลกเปลี่ยนกันอย่างไร สำหรับสังคมยุคใหม่ ใช้วิธีการแลกเปลี่ยนโดยใช้สื่อ คือ มีการใช้เงินเพื่อเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนและตัวเงินนั้นเองก็เป็นมาตรฐานแห่งค่าหรือมูลค่าดังนั้นมูลค่าของการแลกเปลี่ยนจึงแสดงออกมาในรูปของเงินตรา ทำให้เกิดความสะดวกในการดำรงชีพในสังคม
5. ตลาด ตลาดเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจซึ่งมีส่วนประสาน อาชีพ ทรัพย์สิน และสัญญา เข้าด้วยกัน จนกระทั่งสามารถทำให้การแลกเปลี่ยน เป็นไปได้โดยสะดวก ตลาดมีหน้าที่และบทบาทที่เป็นคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ในทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก คือ
5.1 ทำให้ผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ให้บริการสามารถพบปะผู้ซึ่งต้องการสินค้าและบริการเหล่านั้น
5.2 ตลาดเป็นแหล่งที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และในรูปแบบอย่างง่าย เช่น แหล่งชุมชนที่มีผู้ขายและผู้ซื้อซึ่งอาจจะกระทำกันในลักษณะของการติดต่อโดยตรงหรือการติดต่อกันโดยทางอื่น เช่น ในทางเอกสารหรือการใช้อุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ ทางอินเตอร์เนทและ เวปไซด์ต่างๆ
โดยปกติแล้วราคาของสิ่งของในตลาด ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างการเสนอและการสนอง ถ้าการเสนอสูงราคาของสินค้าก็จะมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นด้วย ในทำนองเดียวกัน ราคาของสินค้าจะสูงขึ้นอยู่กับปริมาณของการสนองด้วย
องค์ประกอบของสถาบันเศรษฐกิจ
1. ตำแหน่งทางสังคม เช่น ชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า แม่ค้า ข้าราชการ นายทุน นักอุตสาหกรรม
ผู้บริหาร ลูกจ้าง ผู้จัดการ
2. หน้าที่ หน้าที่สำคัญทางเศรษฐกิจ คือ บำบัดความต้องการทางเศรษฐกิจ เช่นการแบ่งปันวัตถุดิบ หรือบริการที่มนุษย์ต้องการและให้ความสะดวกแก่มนุษย์ในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่นระบบเงินเชื่อมีเงินตราในการแลกเปลี่ยน
3. แบบแผนการปฏิบัติ จะแตกต่างกันไปตามขนาดของกลุ่มเช่นเกษตรกรรม ร้านค้าขนาดเล็กจะมีความสัมพันธ์แบบปฐมภูมิ มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นส่วนตัว แต่ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่ความสัมพันธ์แบบทุติยภูมิ ผูกพันกันด้วยลายลักษณ์อักษร
4. ศูนย์กลางที่เป็นรูปธรรม บริษัท ร้านค้า ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงงาน ไร่นา
หน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจ
1.หน้าที่ในการผลิตและแจกแจงผลผลิตให้แก่สมาชิกสังคมให้เกิดความเสมอภาคและยุติธรรมตอบสนองความต้องการของสมาชิกได้ ทำให้สังคมก้าวหน้า
2. พัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
3.ให้ความสะดวกแก่มนุษย์ในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเช่น ระบบเงินเชื่อ การใช้เงินตรา จัดให้มีการแบ่งงาน ตลาด ระบบผลกำไร ค่าจ้างและดอกเบี้ย
4. ช่วยเหลือในการบริโภคให้เป็นไปได้อย่างพอเพียงและทั่วถึงให้มากที่สุด
6. สถาบันสื่อสารมวลชน
สถาบันสื่อสารมวลชน เป็นระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับการสื่อข่าวสารและความรู้ความคิดในหมู่สมาชิกของสังคม แบบแผนเหล่านี้ย่อมอาศัยภาษาของสังคมเป็นสื่อกลาง เช่น ในสังคมไทยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลางในการสื่อความหมายกันในหมู่คนไทยสื่อในการส่งข่าวสารหรือความรู้ความคิดมีหลายรูปแบบ เช่นด้วยการพูดการเขียน หรือการส่งผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ เป็นต้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ระเบียบแบบแผนในการส่งข่าวสารและความรู้จากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแหน่งหนึ่ง ซึ่งอาจทำได้หลายทาง เช่น ทางหนังสือ ทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ เป็นต้น
สถาบันสื่อสารมวลชน ในฐานะสถาบัน หมายถึง วิธี ตัวแทน และเครื่องมือที่สื่อความหมายในเรื่องความคิด เจตคติ ความประทับใจ และภาพพจน์ต่อคนจำนวนมาก ลักษณะของสื่อสารมวลชนมีทั้งรูปแบบเด่นชัด เช่น วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร ผ่านระบบอินเตอร์เนท กับรูปแบบที่ไม่เด่นชัด เช่นป้ายโฆษณา ดนตรี เสื้อผ้า
สถาบันนี้มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่และความเจริญก้าวหน้าของสังคมสมัยใหม่มากโดยเฉพาะในสังคมที่เจริญก้าวหน้าสื่อมวลชนจะแผ่ขยายและอิทธิพลต่อครอบครัว ทำให้บุคคลได้รับค่านิยมและวิธีการปฏิบัติทั้งในด้านบวกและด้านลบมากขึ้นโดยเฉพาะอิทธิพลของสื่อมวลชนที่สำคัญคือการให้ข่าวสาร ข่าวสารเหล่านี้มักจะเป็นลายลักษณ์อักษรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นผู้เขียน บรรณาธิการและผู้จัดทำมักจะร่วมกับครูกลุ่มเพื่อนและครอบครัวในกระบวนการขัดเกลา เช่น ครูอาจสั่งให้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ค้นคว้ารายงานจากอินเตอร์เนท ฯลฯ โดยอิทธิพลของสื่อมวลชนเหล่านี้จะมีอิทธิพลมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่จะมีทัศนคติและแนวโน้มต่อสิ่งที่ได้รับอย่างไรบ้างก็ยอมรับบ้างก็ต่อต้านบ้างก็วางเฉย อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมของคนบางกลุ่มและการหาความรู้ของบุคคลอีกส่วนหนึ่ง
องค์ประกอบของสถาบันสื่อมวลชน
1. ตำแหน่งทางสังคม เช่น นักเขียน นักข่าว บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา โฆษก ผู้ให้ข่าว ผู้ชม ผู้ฟังผู้อ่าน ผู้จัดการ พนักงานขับรถ ผู้โดยสาร เจ้าของโรงพิมพ์ เจ้าของยานพาหนะเจ้าของหนังสือพิมพ์ เจ้าของสถานีวิทยุเจ้าของสถานีโทรทัศน์เจ้าของสินค้า เจ้าของเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น
2. หน้าที่ สถาบันสื่อสารมวลชนมีหน้าที่สำคัญเช่น การแพร่ข่าวสารความรู้ความคิดต่อมวลชน โดยผ่านสื่อมวลชนต่างๆดังได้กล่าวแล้วการอำนวยความสะดวกในการเดินทางติดต่อกันระหว่างบุคคลต่างๆในสังคม และระหว่างสังคมรวมทั้งการขนย้ายเครื่องอุปโภคบริโภคไปมายังสถานที่ต่างๆทำให้บุคคลได้ทราบข่าวสารแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด ติดต่อซึ่งกันและกันได้ และทำให้บุคคลในสังคมได้มีของกินของใช้โดยทั่วถึงกัน
3.แบบแผนการปฏิบัติสถาบันสื่อสารมวลชนของแต่ละสังคมได้กำหนดแบบแผนสำหรับบุคคลตำแหน่งต่างๆของสถาบันนี้ได้ปฏิบัติเช่นเสนอข่าวที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงไม่บิดเบือน ข่าวสารไม่นำเรื่องส่วนตัวที่เจ้าตัวต้องการปกปิดมาเผยแพร่ไม่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคายหรือไม่สุภาพไม่เผยแพร่ข่าวสารอันเป็นการดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น หรือนำความลับของชาติมาเปิดเผย เป็นต้น
4. ศูนย์กลางที่เป็นรูปธรรม หนังสือพิมพ์ วารสาร วิทยุ โทรทัศน์ โทรสาร ข้อมูลสารสนเทศ อินเตอร์เนท เพจเจอร์
หน้าที่ของสถาบันสื่อสารมวลชน
1. เป็นแหล่งข่าวที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
2. เป็นแหล่งให้ความรู้ความบันเทิง ข่าวสารแก่ปวงชน
3.เป็นการสร้างประชามติเป็นช่องสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นแหล่งเผยแพร่ปลูกฝังแนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
7. สถาบันนันทนาการเป็นสถาบันพักผ่อนหย่อนใจในชีวิตประจำวันของมนุษย์โดยมนุษย์จะทำแต่งานอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพักผ่อนด้วย การพักผ่อนจึงมักจะแฝงไว้ซึ่งความบันเทิงหรือความเพลิดเพลินในรูปต่างๆเช่น การกีฬา มหรสพการละเล่นการฟ้อนรำฯลฯ โดยแต่ละอย่างจำต้องมีการฝึกซ้อม หรือมีระเบียบต่างๆ นานา อาทิ การรับเข้าเป็นสมาชิก กติกาการเล่น กติกาการแข่งขัน กติกาการให้รางวัล เป็นต้น
องค์ประกอบของสถาบันนันทนาการ มีดังนี้
1. ตำแหน่งทางสังคม เช่น ประชาชนผู้ทำการพักผ่อนหย่อนใจหรือใช้เวลาโดยทั่วไปผู้มีงานอดิเรก เช่น นักสะสมแสตมป์ เหรียญ หรือธนบัตร ของยุคสมัยต่างๆ หรือของชาติต่างๆ นักกีฬาประเภทต่างๆเช่น นักกอล์ฟ นักตะกร้อ นักเทนนิส นักแบดมินตัน นักฟุตบอล นักบาสเกตบอล ฯลฯ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬา นักเขียนสมัครเล่น นักเล่นกล้วยไม้ หรือพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ เป็นต้น
2. หน้าที่ สถาบันนันทนาการมีหน้าที่สำคัญในการบำรุงรักษาและเสริมสร้างสุขภาพทางร่างกายและจิตใจของสมาชิกในสังคม ดังพุทธภาษิตที่ว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ หรือภาษิตฝรั่งที่ว่า จิตใจที่เข้มแข็งอยู่ในร่างกายที่แข็งแรงนอกจากนั้นสถาบันนันทนาการยังมีหน้าที่ในการให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินและชี้แนวทางในการใช้เวลาว่างจากการงานให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตใจ
3. แบบแผนการปฏิบัติ เกี่ยวกับการนันทนาการได้แก่ ระเบียบหรือกฎเกณฑ์ของการกีฬาและการออกกำลังกายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการร้องรำ หรือเล่นดนตรี ตลอดจนแนวทางในการพักผ่อนหย่อนใจอย่างถูกวิธีเพื่อให้บังเกิดผลดีแก่ร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้นยังมีมาตรฐานของการเป็นนักกีฬาที่ดี มีสปิริตหรือน้ำใจ รู้จักแพ้ รู้จักชนะ ไม่กระทำการรุนแรงกับคู่แข่งจนเกินเหตุ
4. ศูนย์กลางที่เป็นรูปธรรม สนามกีฬา สโมสร ชมรม ศูนย์ออกกำลังกาย
หน้าที่ของสถาบันนันทนาการ
1. ช่วยคลายความเครียดทางร่างกายและจิตใจ เกิดการพัฒนาสุขภาพกายและจิตใจ
2. ช่วยให้มีความสัมพันธ์ในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดวินัย เคารพกติกา
3. ช่วยเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ ป้องกันการเบื่อหน่ายกิจการงานหน้าที่ประจำได้
สรุป สถาบันสังคมต่างๆเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโครงสร้างสังคม ดังนั้นเมื่อแต่ละสถาบันเหล่านี้สามารถทำหน้าที่ของแต่ละสถาบันได้สมบูรณ์แบบก็จะทำให้เกิดความเป็นระเบียบในสังคม ทำให้สังคมนั้นดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่ในทางตรงข้ามถ้าสถาบันใดสถาบันหนึ่งทำหน้าที่บกพร่องก็จะส่งผลกระทบถึงสถาบันอื่นๆ ในสังคมให้เกิดความไร้ระเบียบในสถาบันได้ จึงทำให้โครงสร้างสังคมนั้นเป็นปัญหาต้องแก้ไข เช่น สถาบันการเมืองการปกครองไม่สามารถป้องกันสมาชิกในสังคมให้อยู่ได้อย่างเป็นสุขจะส่งผลให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการผลิตและแจกแจงผลผลิต ทำให้สถาบันเศรษฐกิจ ไม่สามารถทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกในสังคมได้ อย่างเสมอภาค และยุติธรรม ฯลฯ