วันอังคารที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐

4.โครงสร้างของสังคมมนุษย์

โครงสร้างทางสังคม หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีแบบแผนในการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน โครงสร้าง ของสังคม เปรียบได้กับบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่อย่าง สมบูรณ์ ประกอบด้วย โครงสร้างที่สำคัญหลายอย่าง เช่น คาน หลังคา พื้น ฝา ประตู หน้าต่าง เป็นต้น โครงสร้างของสังคมก็เช่นเดียวกัน ย่อมประกอบด้วยกลุ่มคน สถาบันทางสังคม และสถานภาพ บทบาทของคนในสังคม
กลุ่มคน หมายถึง คน 2 คนขึ้นไปมีการติดต่อกันทางสังคม และอยู่ร่วมกัน ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในระยะที่ยาวนานพอควร โดยมีจุด มุ่งหมาย ร่วมกัน เช่น สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมข้าราชการพลเรือน สมาคมเกษตรกร ฯลฯ คนที่ อยู่ร่วมกัน เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เช่น เข้าชมภาพยนตร์ร่วมกัน โดยสารรถยนต์ คันเดียวกัน ไม่ถือว่าเป็นกลุ่มคน เพราะไม่มีการกระทำทางสังคมแต่ประการใด เสร็จภารกิจแล้วก็แยกย้ายกันไปตามวิถีทางของตน
ประเภทของกลุ่มคน
..1.กลุ่มปฐมภูมิ เป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกเป็นไปอย่าง แนบแน่น มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นส่วนตัว ไม่มีพิธีรีตอง มีความสัมพันธ์ กันอย่างต่อเนื่อง เช่น ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว เพื่อนเรียน อันเป็น ความสัมพันธ์ที่มีความสม่ำเสมอ และยาวนาน กลุ่มปฐมภูมิเป็นกลุ่มสมาชิก จำนวนน้อย
..2. กลุ่มทุติยภูมิ เป็นกลุ่มที่สมาชิกขาดความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นส่วนตัว สัมพันธภาพระหว่างสมาชิกเป็นแบบทางการ สมาชิกของกลุ่ม ทุติยภูมิเป็น ลักษณะของกลุ่มขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียน กระทรวง บริษัท ฯลฯ
บทบาทและหน้าที่ของสมาชิกที่มีต่อกลุ่มคน
..1.ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่มปฐมภูมิ ต้องมีความรัก ความรับผิดชอบต่อ ครอบครัวเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน ให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มอย่างจริงใจ ฯลฯ
..2. ในฐานะเป็นสมาชิกของกลุ่มทุติยภูมิต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ของสังคมอย่างเคร่งครัด พัฒนาตัวเองให้มีความเจริญก้าวหน้า สร้างความสมานสามัคคีในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม
กลุ่มสังคม (Social group)ก็คือกลุ่มคน (Human group)แต่เป็นกลุ่ม คนที่ผู้คนมีความสัมพันธ์มีการกระทำต่อกันทางสังคมและย่อมจะต้องมีการ จัดระเบียบทางสังคมแต่ระดับของความเป็นระเบียบมีแบบแผนในการ ดำเนินชีวิตร่วมกัน ความรู้สึกเป็นสมาชิกของกลุ่มอาจแตกต่างกันไป
การแบ่งชนิดของกลุ่มสังคม ก็อาจแบ่งออกได้แตกต่างกันไป ได้มีผู้รู้และนักสังคมวิทยาแบ่งชนิดของกลุ่มสังคม โดยอาศัยเกณฑ์การแบ่งแตกต่างกันไป เช่น ใช้ลักษณะความสัมพันธ์ของผู้คนในกลุ่ม คำนึงถึงระยะเวลาที่กลุ่มสังคมนั้นๆ ดำรงอยู่ คำนึงถึงขนาดของกลุ่ม ฯลฯ
ชนิดของกลุ่มสังคมที่มีผู้แบ่งไว้ เช่น
1. กลุ่มปฐมภูมิและกลุ่มทุติยภูมิ (Primary and Secondary) Charles H. cooley นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ได้ให้ความหมายของกลุ่มปฐมภูมิว่า เป็นกลุ่มขนาดเล็ก ผู้คนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและอย่างเป็นกันเอง และเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจทางอารมณ์ ตัวอย่างของกลุ่มปฐมภูมิ เช่น กลุ่มเพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนบ้าน ครอบครัว ฯลฯ ส่วนกลุ่มทุติยภูมิ เป็นกลุ่มที่สมาชิกมีความสัมพันธ์กันแบบไม่ใช่เป็นส่วนตัว (Impersonal relation) สมาชิกของกลุ่มขาดความอบอุ่นใจ เพราะทุกคนมุ่งแต่การปฏิบัติต่อกันตามระเบียบแบบแผน ขาดความเห็นอกเห็นใจกัน สมาชิกจะมีความรู้สึกขาดที่พึ่ง ขาดความเป็นกันเอง ตัวอย่างของกลุ่มทุติยภูมิ เช่น มหาวิทยาลัย องค์การท่าเรือแห่งประเทศไทย
2. กลุ่มพวกเขาและกลุ่มพวกเรา (We-group and They-group) William G. Sumner เป็นผู้แบ่งกลุ่มคนออกเป็นกลุ่มพวกเขาและกลุ่มพวกเรา โดยถือเอาความรู้สึกของสมาชิกในกลุ่มเป็นเกณฑ์ในการกำหนด เช่น ถ้าเขามีความรู้สึกว่าตนเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้คนในกลุ่มเป็นพวกเดียวกับเขา (We feeling) มีความรู้สึกผูกพัน รู้สึกเป็นมิตร ลักษณะเช่นนี้จัดเป็นกลุ่มพวกเรา ตัวอย่างกลุ่มพวกเรา เช่น กลุ่มเพื่อนนักศึกษาร่วมชั้นเรียน เพื่อนบ้าน ครอบครัว นักเรียนรุ่นเดียวกัน ฯลฯ ส่วนกลุ่มพวกเขา ก็คือ กลุ่มที่ประกอบด้วยผู้คนที่เรามีความรู้สึกว่าห่างเหินจากเรา มีความรู้สึกว่าเป็นกลุ่มต่อต้าน เป็นคู่แข่ง ฯลฯ
3. กลุ่มคนระดับเดียวกันและกลุ่มคนหลายระดับ (Horizontal and Vertical) กลุ่มคนระดับเดียวกัน หมายถึง กลุ่มคนที่ประกอบด้วยผู้คนที่อยู่ในลำดับชั้นทางสังคมระดับเดียวกัน เช่น สโมสรอาจารย์ สมาคมแพทย์ ส่วนกลุ่มคนหลายระดับ หมายถึง กลุ่มคนที่ประกอบด้วยผู้คนต่างระดับชั้นทางสังคมมาอยู่ร่วมกัน เช่น พุทธสมาคม สหกรณ์ผู้บริโภค ซึ่งสมาชิกอาจประกอบด้วยบุคคลอาชีพต่างๆ ฐานะต่างๆ กัน มีทั้งข้าราชการระดับสูง ลูกจ้าง พ่อค้า นายธนาคาร ฯลฯ
4. กลุ่มคนที่จัดตั้งขึ้นเป็นแบบแผนและไม่มีแบบแผน (Organized and Unorganized) กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเป็นแบบแผน หมายถึง กลุ่มที่กำหนดระเบียบที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติของสมาชิกในกลุ่ม กำหนดตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิก และโดยทั่วๆ ไป กลุ่มที่จัดตั้งเป็นระเบียบแบบแผนจะมีเป้าหมายของกลุ่มที่แน่นอน ตัวอย่างของกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเป็นระเบียบแบบแผนหรือเป็นทางการ เช่น องค์การท่าเรือแห่งประเทศไทย พุทธสมาคม บริษัท ฯลฯ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีแบบแผน ได้แก่ กลุ่มที่ผู้คนมารวมกันอยู่อย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีระเบียบที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติของกลุ่มที่แน่นอน ผู้คนติดต่อสัมพันธ์กันเป็นการส่วนตัว ตัวอย่างของกลุ่มชนิดนี้ เช่น กลุ่มเพื่อนสนิท กลุ่มเพื่อนบ้าน
5. กลุ่มชนส่วนใหญ่และกลุ่มชนส่วนน้อย (Majority and Minority) กลุ่มชนส่วนใหญ่ หมายถึง กลุ่มคนที่มีจำนวนประชากรมากกว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีอำนาจทางการเมืองมากกว่าประชากรส่วนที่แตกต่างออกไป เช่น กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมและประวัติความเป็นมาอย่างเดียวกัน กลุ่มชนที่นับถือศาสนา กลุ่มชนที่มีเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่าประชากรอีกส่วนหนึ่งที่เหลือ ตัวอย่างกลุ่มชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มคนที่นับถือพุทธศาสนา กลุ่มคนที่เป็นคนเชื้อชาติไทย กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมไทย ส่วนกลุ่มชนส่วนน้อย เป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมและความต้องการในทางการเมือง ซึ่งแตกต่างไปจากชนส่วนน้อย เป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมและความต้องการทางการเมือง ซึ่งแตกต่างไปจากชนส่วนใหญ่ ตัวอย่างในสังคมไทย เช่น ชาวญวณอพยพ ชาวจีน กลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม
6. ชุมชนชนบทและชุมชนเมือง (Rural and Urban) กลุ่มสังคมอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มคนที่มีชีวิตอยู่ในชนบทหรือนอกเขตเทศบาล และสุขาภิบาล ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่มีอาชีพทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ วิถีการดำเนินชีวิตขึ้นอยู่กับธรรมชาติเป็นสำคัญ กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ชุมชนเมือง เป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันอยู่ในอาณาบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ผุ้คนมีอาชีพทางด้านบริการและงานอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาชีพการเกษตร การดำเนินชีวิตขึ้นอยู่กับการกำหนดเวลาและแบ่งแยกงานรับผิดชอบโดยเฉพาะความสัมพันธ์ของผู้คนเป็นไปตามหน้าที่รับผิดชอบ
7. กลุ่มสังคม อาจแบ่งออกเป็นกลุ่มการงาน (Task oriented group) ได้แก่ กลุ่มคนที่ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาร่วมตัวกันเพื่อร่วมกันทำงานหรือเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไป ตัวอย่างของกลุ่มชนิดนี้ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตสินค้า กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร อีกชนิดหนึ่ง คือ กลุ่มการสังคม (Socially oriented group) เป็นกลุ่มคนที่มารวมตัวกันเพื่อการคบหาสมาคม เพื่อการสังสรรค์ค์สัมพันธ์กัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มเพื่อน กลุ่มนักเรียนที่เรียนรุ่นเดียวกัน พุทธสมาคม

การเกิดกลุ่มสังคม
กลุ่มสังคมอาจเกิดขึ้นได้ 2 ทางด้วยกัน คือ ถูกสร้างขึ้นโดยเจตนา กับเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
กลุ่มที่เกิดขึ้นโดยเจตนา
มักจะเกิดจากใครคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนก่อตั้งขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ของตนและของกลุ่ม เช่น สมาคมพ่อค้า บริษัท ห้างร้าน จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหวังผลกำไร

ส่วนกลุ่มที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ได้แก่ กลุ่มคนที่ช่วยงานวัด กลุ่มผู้ประท้วงการสร้างเขื่อนปากมูล กลุ่มเพื่อนบ้าน
กลุ่มสังคมเมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาจสลายตัวไปได้ด้วยหลายสาเหตุ เช่น งานสำเร็จตามวัตถุประสงค์แล้ว งานไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ งานหนัก เกินไป
กลุ่มปฐมภูมิ ลักษณะของกลุ่มปฐมภูมิ ตามที่ได้มีการศึกษากันไว้ พอสรุปได้ ดังนี้
1. โดยทั่วไปแล้วเป็นกลุ่มขนาดเล็ก และด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มขนาดเล็กนี้เอง ทำให้ผู้คนในกลุ่มมีโอกาสติดต่อใกล้ชิดสนิทสนม มีความเป็นกันเอง
2. สมาชิกมีความคุ้นเคยกัน และติดต่อสัมพันธ์กัน พบปะกันโดย ตรง (Face to Face)
3. ความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นลึกซึ้ง และมีลักษณะเป็นส่วนตัว (Personal) ความสัมพันธ์ยากที่จะสิ้นสุด เห็นอกเห็นใจและเกื้อหนุนกัน ตลอดไป
4. มีการติดต่อสัมพันธ์กันเป็นระยะเวลานาน

5. การกระทำต่อกันทางสังคมอาศัยความพึงพอใจเป็นหลัก และความพึงพอใจนี้เองเป็นหลักของการแก้ปัญหามากกว่าการใช้เหตุผล
กลุ่มทุติยภูมิ (Secondary group) เป็นกลุ่มคนที่ประกอบด้วยผู้คนจำนวนมาก สัมพันธภาพทางสังคมของสมาชิกเป็นไปตามแบบแผน ขาดความเป็นกันเอง ลักษณะของกลุ่มทุติยภูมิ ประกอบด้วย
1. เป็นกลุ่มที่ผู้คนรวมตัวกันโดยมีการจัดระเบียบ มีการแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบ

2. เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับกลุ่มปฐมภูมิ
3. เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันอย่างมีเป้าหมาย
4. การติดต่อกันอาศัยหน้าที่ (Function) มากกว่าเป็นการส่วนตัว
5. การติดต่อกันมักจะมีระยะสั้น

6. ขาดความเห็นอกเห็นใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
7. การติดต่อสัมพันธ์กัน เพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์
8. ผู้คนในกลุ่มทำงานตามหน้าที่และมุ่งหวังผลประโยชน์ของตนเอง
9. ความจริงใจต่อกันมีจำกัด และบางครั้งอาจแสร้งทำ
10. การตัดสินใจของกลุ่มอาศัยเหตุผล ยึดความถูกต้องเป็นหลัก เมื่อกลุ่มตัดสินใจแล้วสมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติตาม
กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นแบบแผน (Formal organization) หรืออาจ เรียกว่ากลุ่มที่เป็นทางการ หมายถึง กลุ่มสังคมที่มีการจัดระเบียบในการ กระทำกิจกรรมร่วมกัน มีการกำหนดตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบและ บางกลุ่มอาจกำหนดสายการดำเนินงาน สายการบังคับบัญชาไว้ด้วย กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นแบบแผนมักเป็นกลุ่มขนาดใหญ่และพบได้ มากขึ้นเรื่อย ๆในสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะประชากรมีมากขึ้น มีกิจกรรม ต่าง ๆ ที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น

กลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic group) เป็นกลุ่มสังคมแบบหนึ่งซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่มีวัฒนธรรมและประวัติความเป็นมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน สังคมต่าง ๆ มักจะประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์อาจเป็นชนกลุ่มใหญ่ หรือชนกลุ่มน้อยในสังคมก็ได้ และถ้ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่กลุ่มนั้นย่อมมีบทบาทและอำนาจ ทางการเมืองมากกว่า ถ้าสังคมใดประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม โอกาสที่จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งย่อมมีมากขึ้น แต่บางกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาอาจมีคุณค่าต่อการพัฒนา สังคมบ้างก็ได้ จากการที่สังคมนั้นได้รับวัฒนธรรมใหม่ ๆ จากกลุ่มชาติ พันธุ์ที่อพยพเข้ามาอยู่ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการรู้จักนำเอาคนและวัฒนธรรม มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมของตนด้วย
รูปแบบการกระทำต่อกันระหว่างสมาชิกและกลุ่ม
1. การร่วมมือกัน (Cooperation) เป็นการกระทำร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นจุดมุ่งหมายร่วมกัน และจุดมุ่งหมายเฉพาะของแต่ละบุคคลก็ได้

2. การแข่งขัน(Competition)เป็นความพยายามที่จะเอาชนะคู่แข่งขัน หรือฝ่ายตรงกันข้ามเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง
3. การขัดแย้ง (Conflict) เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่แสดงออก มาในลักษณะของการคัดค้านต่อต้านหรือบังคับซึ่งกันและกันเมื่อการแข่งขัน มีความรุนแรงมากขึ้น และต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมรับกติกา ไม่ยอมรับบรรทัด ฐานทางสังคม

4. การผ่อนปรนเข้าหากัน (Accommodation) เป็นวิธีการหนึ่งที่จะ ช่วยลดการขัดแย้งกันของคู่กรณีโดยทั่วไปการผ่อนปรนเข้าหากันจะเกิดขึ้นเมื่อคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน เห็นว่าการขัดแย้งนั้น ๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ ฝ่ายตน หรือมองเห็นว่าตนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

5. การผสมกลมกลืน (Assimilation) เป็นกระบวนการปรับตัวของ อีกฝ่ายหนึ่งให้เข้ากับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยรับเอาวิถีชีวิตของอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็น ของตน กระบวนการนี้มักจะค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลานาน